ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญ : ศึกษากรณีความผิดเกี่ยวกับเพศ

ธนวัฒ พิสิฐจินดา, วิสาข์ บุณยนิตย์, ธนสร สุทธิบดี, ปิยธิดา ทองรอง, คัทลียา เกษมศิริ

Abstract


ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผู้เชี่ยวชาญมีบทบาทเกี่ยวกับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดี ซึ่งรวมถึงคดีความผิดเกี่ยวกับเพศด้วย เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญอาจทำการตรวจพิสูจน์ร่างกายของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลย และทำความเห็นในเรื่องต่าง ๆ จึงมีปัญหาสำคัญว่าการตรวจพิสูจน์และการทำความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือไม่ อย่างไร สำหรับวัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ ได้แก่ 1. เพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญในความผิดเกี่ยวกับเพศ 2. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการวิจัยเอกสารจากบทบัญญัติของกฎหมาย ตำรา หนังสือ บทความ คำพิพากษาศาลมาทำการศึกษาวิเคราะห์เรียบเรียงอย่างเป็นระบบเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า ในคดีอาญา “แพทย์” ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243 ความเห็นของแพทย์เป็นข้อเท็จจริงใช้เป็นพยานในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า ตรวจร่างกายหรือจิตของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลย คดีความผิดเกี่ยวกับเพศที่กำหนดการ “กระทำชำเรา” เป็นองค์ประกอบของความผิด เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายผู้เสียหายแล้วพบว่ามีการล้วงล้ำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย แพทย์อาจจะให้ความเห็น เช่น “มีร่องรอยการร่วมเพศ” “มีการร่วมประเวณี” “มีร่องรอยการฉีกขาดเยื่อพรมจารี” โดยอาจระบุว่า “ฉีกขาดเก่า” “ฉีกขาดใหม่” เป็นต้น แต่แพทย์จะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาว่าเกิดการล้วงล้ำอวัยวะเพศผู้เสียหายมานานเพียงใด และแพทย์จะไม่เขียนคำว่า “ข่มขืน” ลงในรายงานชันสูตร

Full Text:

Untitled

Refbacks

  • There are currently no refbacks.